ตำแหน่งวางบันได กับหลักฮวงจุ้ย
“บันไดบ้านคือทางเดินของมังกร” บันไดในทางฮวงจุ้ยถือว่าเป็นตัวเชื่อมโยงของพลังชี่ ระหว่างพื้นบ้านในแต่ละชั้น และยังเป็นตัวสร้างความเคลื่อนไหว เกิดการเคลื่อนที่ของพลังงาน ถ้าวางตำแหน่ง ฮวงจุ้ยบันได ผิด ย่อมส่งผลเสียต่อผู้อยู่อาศัยแน่นอน แต่ถ้าวางตำแหน่งที่ถูกต้อง ก็อาจจะช่วยเสริมโชคลาภได้
ดังนั้น เราลองมาดูการวางบันไดที่ถูกหลักฮวงจุ้ยกันดีกว่า การสร้างบันได ไม่ใช่จะสร้างอย่างไรก็ได้ แต่ต้องให้มีความแข็งแรง ปลอดภัย ไม่เช่นนั้นจะเป็นอันตราย และเกิดอุบัติเหตุต่อสมาชิกในครอบครัวได้ง่าย
1. บันไดไม่ควรวางอยู่ตรงกับประตูทางเข้าบ้าน เพราะจะทำให้กระแสชี่ไหลเข้าบ้านไม่สะดวก อีกทั้งยังทำให้กระแสชี่ไหลออกนอกบ้านได้ง่าย ลักษณะอย่างนี้ในทางฮวงจุ้ยหมายถึง “เก็บทรัพย์ไม่อยู่” หรือ “ขัดทรัพย์” เรียกได้ว่า หาเงินมาเท่าไหร่ ก็ไม่มีเหลือ
2. หากจำเป็นจะต้องทำบันไดบริเวณประตูทางเข้าบ้าน ควรทำเลี่ยงมาทางด้านข้างแทน เพื่อให้บริเวณหน้าประตูเป็นชานพัก แต่ต้องระวังอย่าทำบันได 2 ข้าง ในลักษณะเดินขึ้นข้างหนึ่ง แล้วไปลงอีกข้างหนึ่ง เพราะบันไดจะเข้าข่ายเมรุเผาศพ คนโบราณถือว่าอัปมงคลยิ่ง
3. ห้ามวางตำแหน่งบันไดไว้ใจกลางของบ้าน ในทางฮวงจุ้ยจะถือว่าเป็นตำแหน่งหัวใจของบ้าน เพราะฉะนั้นการจะนำอะไรไปวางในจุดนี้ จะต้องพิจารณาให้มากๆ ซึ่งในกรณีจุดกลางบ้านเป็นบันได จะถือว่าเป็นข้อเสียและเป็นข้อห้ามในทางฮวงจุ้ย เพราะจะทำให้เจ้าของบ้านอยู่ไม่ติดบ้านหรือชีพจรลงเท้า เนื่องจากบันไดมีสภาพที่เคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง นอกจากนี้ อาจทำให้เจ้าของบ้านเป็นโรคหัวใจได้ง่าย เพราะตำแหน่งหัวใจจะมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
4. ตำแหน่งบันไดที่ดี ควรอยู่ข้างบ้าน อาจอยู่ซ้ายหรือขวาก็ได้ โดยส่วนใหญ่จะพิจารณาจากประตูทางเข้าบ้านเป็นหลัก ถ้าประตูทางเข้าอยู่ซ้าย บันไดก็ควรอยู่ขวา แต่ถ้าประตูอยู่ขวา บันไดก็ควรอยู่ซ้าย จึงจะถือว่าดี แต่ตำแหน่งที่ดีที่สุดควรวางไว้ส่วนกลางของบ้าน ไม่ใช่ใจกลางบ้าน อย่าสับสน เหตุผลก็คือเป็นจุดที่สะดวกที่สุด เพราะเวลาจะเดินไปหน้าบ้านหรือหลังบ้าน จะมีระยะห่างที่พอๆกัน
5. บันไดไม่ควรอยู่ในทิศตรง (ออก ตก เหนือ ใต้) อาจจะทับดาวเสน่ห์ของสมาชิกในบ้านได้ การหันตำแหน่งทางขึ้นบันไดแนะนำให้หันในทิศเฉียง โดยไม่ควรอยู่ในทิศหลักอย่าง ตะวันออก เหนือ ใต้ หรือตะวันตก เพราะอาจจะทับดาวเสน่ห์ของสมาชิกในบ้าน บดบังพลังบวกต่าง ๆ หากหันในทิศเฉียง เช่น ตะวันออกเฉียงเหนือ แทน จะช่วยเปิดทางได้มากขึ้น (ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญดูแบบละเอียด)
6. บันไดห้ามชันและแคบ บันไดที่ดีจะต้องลาดชันไม่เกิน 45 องศา บันไดที่กว้างย่อมดีกว่าแคบ เพราะจะทำให้การเดินจะสะดวก ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ความกว้างไม่ควรต่ำกว่า 1 เมตร ขนาดที่เหมาะสมที่สุดอยู่ที่ 1.2 – 1.5 เมตร ความสูงอยู่ที่ระหว่าง 15 – 20 ซม. โดยความสูงที่ดีที่สุดอยู่ที่ 17.5 ซม. และความลึกของบันไดอยู่ที่ 25-30 ซม. หากความลึกน้อยกว่านี้จะทำให้การเดินนั้นอันตรายและไม่สะดวก
7. บันไดบ้านไม่ควรเทออกจากประตูห้องนอนในระยะกระชั้น เนื่องจากพื้นที่บริเวณบันไดจะมีสภาพเหมือน Slope เทออกตลอดเวลา ดังนั้นกระแสอากาศจะไหลออกจากประตูสม่ำเสมอ หากประตูห้องนอนของท่านรับพลังงานจากองศาทิศทางที่ดี จะมีผลให้เกิดการนำพาพลังงานที่ดีนั้นออกไปอย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นเดียวกัน โดยสภาพของบันไดที่กระชั้นกับประตูห้องนอนเกินไปนั้นคือระยะที่ต่ำกว่า 1-2 เมตร ยิ่งบันไดใกล้ประตูยิ่งมีผลกระทบมาก ทางแก้ไขให้นำฉากมากั้นระหว่างประตูกับบันได
8. ควรมีชานพักคั่นกลางบันได เพื่อป้องกันการสภาพการไหลของกระแสอากาศที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาบริเวณบันได ไม่ให้มีอัตราเร่งของการไหลที่สูงจนเกินไปนัก การทำชานพักที่กลางระยะความสูงรวมของบันได ถือว่าจะเป็นตัวที่ช่วยในการชะลอการไหลของกระแสอากาศได้
9. ขั้นบันไดห้ามเป็นเลขคู่ เป็นเพราะในทางสถาปัตยกรรมศาสตร์นั้น สถาปนิกส่วนใหญ่จะชอบออกแบบตามหลักการที่ว่า หากเราเริ่มเดินด้วยเท้าข้างใด ควรจะจบขั้นสุดท้ายด้วยเท้าอีกข้าง เพื่อจะทำให้เกิดความสมดุลย์ของการทรงตัวในขณะที่เดินขึ้นและลงบันได แต่คนโบราณเชื่อว่าเลขคี่จะหมายถึงคนเป็น ส่วนเลขคู่จะหมายถึงคนตาย
10. บ้านที่มีบันไดนอกบ้าน คือ บันไดโจร บันไดบ้านไม่ควรอยู่นอกบ้าน แม้จะสวยงามแต่ถือว่าเป็นบันไดโจร นอกจากจะทำให้ผู้อาศัยมีเกณฑ์เสียเงินเสียทองแล้ว ยังเป็นการเปิดทางให้กับมิจฉาชีพเข้าสู่ตัวบ้านง่ายขึ้นด้วย
11. สำหรับบ้านทรงไทยหรือบ้านยกพื้นสูง หากมีบันไดออกมานอกบ้าน แนะนำให้ทำบันไดทางซ้ายหรือขวาของประตูบ้าน จะทำให้เก็บเงินได้ดี
โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดของการวางบันไดในหลักการตามศาสตร์ฮวงจุ้ยในเชิงองศาทิศทาง ( Compass Feng Shui Theory ) คือซินแสจะวางบันไดบ้านอยู่ในองศาทิศทางที่ดีประจำอยู่ ดังนั้นเพื่อการจัดฮวงจุ้ยให้ได้ผลที่ดีที่สุดนั้น การวางบันไดควรได้รับการวางให้ถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ยตั้งแต่ช่วงออกแบบบ้านเพราะบันไดนั้นถือเป็นโครงสร้างหนึ่งของบ้านที่ไม่สามารถแก้ไขทีหลังได้แล้ว